Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เลี้ยงลูกให้...แพ้เป็น! เทคนิคพิชิตความเปราะบางทางอารมณ์

Posted By Plook TCAS | 07 ก.ค. 66
352 Views

  Favorite

         Eileen Kennedy Moore ที่ปรึกษาด้านการเลี้ยงดูบุตรได้กล่าวไว้ว่า “Competitiveness is natural among preschoolers.” การแข่งขันเป็นเรื่องธรรมชาติของเด็กเตรียมอนุบาล เด็กในวัยนี้ต้องการจะแข่งขันไปหมดทุกเรื่อง พวกเขาเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดของการชนะ แต่พวกเขาไม่เข้าใจเกี่ยวกับความซับซ้อนของการแพ้ชนะ พวกเขาเข้าใจแค่ว่าการชนะเป็นสิ่งที่ดี พวกเขาเลยต้องการที่ชนะทุกอย่าง

 

         ถ้าให้ทุกคนหลับตา... แล้วจินตนาการถึงหน้าลูกน้อยที่เราต้องให้ความเอาใจใส่แบบสุดพรีเมียม เขาใช่ผู้ที่ต้องการการปกป้องอย่างแน่นหนา ใช่คนที่คุณให้ความรักแบบเกินอัตรา หรือเขาใช่คนที่คุณคอยเฝ้าห่วงทุกฝีก้าวจนบีบหัวใจหรือไม่ ทั้งหมดนี้ล่ะค่ะที่เรียกว่า “ความรัก” ที่ไม่มีเงื่อนไข ที่คุณได้มอบให้ใครคนหนึ่งอย่างหมดใจ แต่..สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจและยอมรับให้ได้ นั่นคือ เราไม่สามารถกำหนดหรือควบคุมทุกสิ่งที่อยากให้เกิดหรือไม่ให้เกิดกับเด็ก ๆ ได้ ต้องบอกเลยว่า เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่มีสภาพอ่อนแอ ปัญหามากมายที่กระตุ้นให้อารมณ์อ่อนไหว และนั่นคือความเปราะบางของสังคมปัจจุบันนั่นเอง และหากเราปล่อยให้เด็ก ๆ เติบโตและใช้ชีวิตอยู่บนความเปราะบาง โดยไม่สร้างภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ให้พวกเขาเลย มันอาจจะสร้างให้เป็นปัญหาใหญ่ในชีวิตของพวกเขาในอนาคตได้ ซึ่งวันนี้เราจะมาคุยกันถึงวิธีเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สามารถนำไปปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางอารมณ์ของลูกน้อยได้

 

         เด็กเล็กส่วนใหญ่จะสนุกกับการที่ได้เป็นผู้ชนะ และจะเลี่ยงกิจกรรมที่เขารู้สึกว่ายาก หรือกิจกรรมที่เคยทำให้มีความรู้สึกพ่ายแพ้ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร แต่สิ่งที่ทุกคนต้องเรียนรู้และควรได้รับการฝึกฝนตั้งแต่เด็ก คือการเรียนรู้ที่จะอยู่และยอมรับกับความผิดหวังให้ได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการก้าวผ่านความกลัวแล้วลุกขึ้นมาเริ่มต้นใหม่ เพราะฉะนั้นคุณพ่อ คุณแม่หรือผู้ปกครองไม่ควรแสดงออกว่าไม่พอใจต่อความผิดพลาดของเด็ก ๆ ความผิดหวัง ดุ ต่อว่า หรือดูตกใจจนเกินไป แต่ควรที่จะอยู่ข้าง ๆ ปลอบเมื่อเด็กน้อยรู้สึกเสียใจกับความพ่ายแพ้ และสอนให้เขาเข้าใจและค่อย ๆ เปิดใจให้พร้อมที่จะต่อสู้ใหม่ อย่ามองข้ามความเสียใจของเขาว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ เพราะนั่นอาจจะเป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เขาเคยพบเจอมาก็ได้

 

         อีกวิธีที่สามารถช่วยสอนให้เด็ก ๆ ได้อย่างดี คือ การฝึกลงสนามแข่งขันจริงร่วมกับผู้อื่น เนื่องจากการที่เราเป็นเด็กน้อยของบ้าน จึงเป็นเรื่องปกติที่เขามักจะถูกเลือกเป็นผู้ชนะเสมอจนเคยชิน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นบอลกับคุณพ่อ คุณแม่ วิ่งแข่งกับพี่ หรือเล่นเกมทายคำกับคุณปู่คุณย่า หรือ คุณตาคุณยาย ทุกคนต่างก็ยอมที่จะเป็นผู้แพ้อย่างเต็มใจ ซึ่งนั่นไม่ผิดเลยค่ะ เพราะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขร่วมกันในครอบครัว แต่ต้องยอมรับว่าในชีวิตจริงนั้น เด็กน้อยของคุณพ่อคุณแม่ พี่ ๆ คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยายไม่สามารถเป็นผู้ชนะได้ในทุกครั้ง และการที่เราพาน้อง ๆ ไปลงแข่งในสนามจริง จึงถือว่าเป็นการฝึกและเป็นประสบการณ์ที่สำคัญค่ะ ซึ่งในแต่ละสนามนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นสนามการแข่งขันจริงจังที่ตามหาผู้ชนะกันอย่างเอาเป็นเอาตาย เพียงแต่เป็นการพาน้อง ๆ ออกไปสู่โลกภายนอกที่ตนเองอาจจะเป็นผู้แพ้ หรือรู้จักการที่ไม่ได้เป็นที่หนึ่งบ้าง โดยยกตัวอย่าง เช่น การพาลูกไปร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในวันเด็ก ซึ่งจะมีกิจกรรมมากมายให้เด็ก ๆ ในวัยใกล้กันได้ร่วมเล่นเพื่อรับของรางวัล โดยส่วนใหญ่กิจกรรมที่ถูกคัดมาเพื่อเด็กในวันนั้น ล้วนแต่จะสร้างสรรค์และไม่ทำร้ายความรู้สึกมากเกินไป แต่บางเกมอาจจะมีการตัดสินเพื่อหาผู้แพ้และผู้ชนะ ซึ่งโดยส่วนใหญ่หากเป็นเกมของเด็กเล็ก  ผู้จัดมักจะให้ของรางวัลกับทุกคนที่ร่วมเล่นกิจกรรมนั้น ๆ โดยอาจมีขนาดหรือจำนวนที่แตกต่างกันตามผลการตัดสิน กิจกรรมแบบนี้ก็จะไม่ทำให้เด็กรู้สึกเสียใจหรือพ่ายแพ้จนเกินไปค่ะ

 

         เรื่องสุดท้ายของการรู้จักการแพ้คือ การไม่ยอมแพ้... สิ่งที่เด็กควรได้เรียนรู้คือเมื่อแพ้ไปแล้ว จะเริ่มใหม่อย่างไร โดยที่น้อง ๆ จะไม่ยึดติดหรือเสียใจนาน แต่เรียนรู้จากการแพ้แล้วลองใหม่ หาวิธีใหม่ ตั้งเป้าหมายใหม่ แล้วลงมือทำอีกครั้ง อย่ากลัวความพ่ายแพ้ เพราะแพ้ไม่น่ากลัวเท่าการกลัวที่จะแพ้อีกครั้ง

 

         อย่างไรก็ตามคำสอนหรือวิธีการพูดคุยของคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองนั้นสำคัญและจะเป็นเครื่องมือที่ติดตัวของเด็กน้อยจนเติบใหญ่ การที่เราเรียนรู้ว่ามีภัยรอบตัวที่จะทำให้เด็กน้อยบาดเจ็บได้นั้น ไม่ได้มีแค่เพียงร่างกาย แต่ทางด้านจิตใจก็ถือว่าสำคัญมาก ๆ เช่นกัน การติดเกราะป้องกันความเปราะบางทางอารมณ์ให้ลูกนั้น ก็เหมือนกับการที่เราปูเบาะนุ่ม ๆ คอยรองรับเมื่อเขาล้มได้ในตลอดเส้นทางการใช้ชีวิตของพวกเขา ไม่ว่าวันนั้นจะมีเราเดินร่วมทางไปด้วยหรือไม่ก็ตาม

 

NEv

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow